นอนไม่หลับรักษาได้โดยไม่ใช้ยานอนหลับ
ด้วยสังคมและสภาพแวดล้อมที่ตึงเครียด พบคนไข้ที่มาปรึกษาเรื่องนอนไม่หลับมีมาก และจำนวนไม่น้อยที่ติดยานอนหลับ
อาการนอนไม่หลับไม่ใช่แค่หลับยาก ยังรวมถึง
§ หลับแล้วตื่นง่าย
§ หลับไม่สนิท
§ ฝันมากจนรู้สึกเหมือนไม่ได้นอน
§ หลับ ๆ ตื่น ๆ
§ หลับได้แต่ตื่นเร็ว
§ ตื่นเช้ายังรู้สึกไม่สดชื่น นอนไม่เต็มอิ่ม
เมื่อมีปัญหานอนไม่หลับ ทำให้ไม่กระปรี้กระเปร่า ง่วงนอน ขี้ลืม สมองไม่ตื่นตัว คิดอะไรไม่ค่อยจะออก บางคนต้องอาศัยการดื่มกาแฟ หรือเครื่องดื่มชูกำลังเพื่อให้ตื่นตัว เมื่อปรึกษาแพทย์ส่วนใหญ่จะได้ยาคลายกังวลหรือยานอนหลับเพื่อให้หลับได้ดีขึ้น ปัญหาที่มักเจอคือหยุดยาไม่ค่อยได้
มีทางแก้ไขไหม ทางศาสตร์การแพทย์แผนจีนมีกล่าวถึงปัญหานอนไม่หลับมาช้านาน การรักษาจะดูที่สาเหตุ การจะเป็นการบำรุง และปรับสมดุล ไม่มีการใช้ยานอนหลับ
สาเหตุแยกให้เข้าใจง่าย ๆ เป็น 3 สาเหตุ
1.สาเหตุจากการเจ็บป่วย(生病失眠)
เมื่อเกิดการเจ็บป่วยในร่างกาย ทำให้เหว่ยชี่(卫气 เป็นชี่ชั้นนอกสุด เสมือนพลังงานด่านแรกที่ปกป้องร่างกาย)ไหลเวียนบกพร่อง ทำให้การไหลเวียนของหยินหยางในร่างกายบกพร่องไปด้วยทำให้นอนไม่หลับ
2.สูงอายุแล้วนอนไม่หลับ(年老失眠)
ในผู้สูงอายุการไหลเวียนของชี่ชั้นในและชั้นนอกพร่อง จากความเสื่อมตามวัย โดยเฉพาะผู้สูงอายุที่ทำงานหนักและใช้สมองมาก ขาดการพักผ่อน และขาดการดูแลสุขภาพในวัยหนุ่มสาว ทำให้การไหลเวียนของเลือดลม พลังงานขัดเคลื่อนในร่างกายพร่อง กลางวันอ่อนเพลีย ไม่สดชื่น กลางคืนแม้จะเพลียก็หลับยาก
3.พลังหยินพร่อง(阴虚失眠)
ในร่ายกายมีทั้งหยินและหยาง ต้องอยู่ในภาวะสมดุล เกื้อกูลกันและกัน ควบคุมกันและกัน เพื่อไม่ให้ขาดและเกินเปรียบเสมือนน้ำกับไฟในร่างกาย ไม่ให้ด้านใดด้านหนึ่งเด่นเกิน หรือพร่องเกิน
ภาวะพลังหยินพร่องเกิดจากความตึงเครียด การพักผ่อนไม่พอ การเปลี่ยนแปลงของอารมณ์ทั้งห้า(ดีใจ โกรธ วิตก เศร้า กลัว)ที่มีมากเกินไป การรับประทานอาหารที่มีหยางมากเกินเช่น อาหารรสเผ็ดร้อน ของทอด ปิ้ง ย่าง
เมื่อหยิน(阴)พร่อง หมายถึงด้านพลังเย็น น้ำ-ความชุ่มชื้น ในร่างกายพร่อง หยางในร่างกายจะเด่น นอกจากจะนอนไม่หลับ คุณภาพในการนอนไม่ดีแล้ว อาการอื่น ๆ ที่ที่แสดงว่าหยางในร่างกายเด่น เช่น คอแห้ง ร้อนในง่าย ท้องผูก ปัสสาวะเข้ม มีสิวอักเสบ เป็นต้น
การรักษานอนไม่หลับนั้นปรับชี่หรือพลังงานในร่างกาย บำรุงหยินให้สมดุลกับหยาง ไม่ว่าด้วยการฝังเข็มหรือด้วยยาสมุนไพร ไม่มีการใช้ยานอนหลับในการรักษา สำหรับคนที่มีปัญหานอนไม่หลับมานาน ต้องใช้ยานอนหลับประจำ ไม่ควรหยุดยาทันทีหลังรักษาด้วยยาหรือฝังเข็ม ควรทานยาเดิมร่วมในช่วงแรก แล้วค่อย ๆ ลดยาลงจนหยุดยาในที่สุด